Aller au contenu

ถ้าต้องการพาลูกอายุต่ำกว่า 18 ปีมาเรียนที่ฝรั่งเศส เริ่มต้นแบบนี้

หากท่านแต่งงานใหม่กับชาวฝรั่งเศสและมีบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย และตอนนี้ ท่านต้องการพาบุตรมาอยู่ด้วย พร้อมให้บุตรเรียนต่อในประเทศฝรั่งเศส ท่านต้องทำเรื่องกับ OFII (Office Français de l’Immigration et de l’Intégration) เป็นลำดับแรก เมื่อเงื่อนไขและขั้นตอนต่าง ๆ สำเร็จเรียบร้อย ท่านถึงจะทำเรื่องขอวีซ่าระยะยาวประเภทติดตามแม่ให้แก่บุตรได้

         การยื่นเรื่องที่ท่านต้องทำนี้เรียกว่า “regroupement familial” หรือ “การรวมตัวของครอบครัว” อันเป็นขั้นตอนเพื่อให้คู่สมรสหรือบุตรมาอยู่ในฝรั่งเศส ก่อนที่จะทำเรื่องขอวีซ่าในลำดับถัดไป คลิกที่นี่ เพื่อทำแบบทดสอบสั้น ๆ เพื่อตรวจสอบว่าท่านมีสิทธิยื่นเรื่องหรือไม่ และท่านจะยื่นเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว” ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้

  • ท่านเป็นชาวต่างชาติ (นอกเหนือจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป)
  • ท่านมีสถานภาพ ถิ่นพำนัก และหลักฐานส่วนบุคคลถูกอย่างต้องครบถ้วน และพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 18 เดือน
  • ท่านมีบัตรถิ่นพำนัก (titre de séjour) หรือ วีซ่าระยะยาวสำหรับ 1 ปีเป็นอย่างน้อย ท่านสามารถใช้ใบที่ออกให้เป็นหลักฐานสำหรับต่อบัตรถิ่นพำนัก (récépissé de la demande de renouvellement de titre de séjour) แทนได้เช่นกัน

 

เงื่อนไขเพื่อยื่นเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว”

  1. เงื่อนไขสำหรับคู่สมรสหรือบุตรที่จะมาประเทศฝรั่งเศส

         คู่สมรสหรือบุตรที่ท่านจะยื่นเรื่องให้มาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • หากเป็นคู่สมรส ต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี
  • หากเป็นบุตร ต้องมีอายุน้อยกว่า 18 ปี
  • คู่สมรสหรือบุตรต้องพำนักอยู่ในต่างประเทศ (ประเทศไทย)
  • เป็นบุตรที่เกิดจากคู่สมรสปัจจุบันหรืออดีตคู่สมรส เป็นบุตรบุญธรรม หรือเป็นเด็กที่ได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมด้วยระบบคาฟารา (kafala) ตามกฎหมายอิสลาม
  • ท่านไม่สามารถยื่นเรื่องสำหรับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น สมาชิกคนอื่น ๆ ต้องขอวีซ่าประเภคอื่นเท่านั้น

 

 

  1. หลักเกณฑ์ด้านที่พักอาศัยของผู้ยื่นเรื่อง

         ที่พักอาศัยของผู้ยื่นต้องสอดรับกับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในแง่ของพื้นที่ ความสะดวกในการใช้ชีวิต ตลอดจนความเป็นอยู่ ท่านต้องเป็นผู้เช่า เจ้าของ หรือเป็นผู้ถือครองที่อยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อยืนยันว่าครอบครัวของท่านอาศัยอยู่ในที่พักที่เหมาะสม เมื่อคู่สมรสหรือบุตรเดินทางมาใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศส

         พื้นที่ของที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับจำนวนบุคคลที่จะมาอาศัยอยู่ด้วย รวมถึงขึ้นอยู่กับโซนของที่พักอาศัย (โซน A, B, C) คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดของโซนต่าง ๆ และที่สำคัญ ที่อยู่อาศัยของท่านจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความสะดวกในการใช้ชีวิตและสาธารณสุข

 

  1. เงื่อนไขด้านทุนทรัพย์สำหรับผู้ยื่นเรื่อง

         ท่านต้องมีทุนทรัพย์เพียงพอและมั่นคงเพื่อพาคู่สมรสหรือบุตรมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ จำนวนทุนทรัพย์จะขึ้นอยู่กับขนาดของครอบครัว คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดของเกณฑ์ด้านทุนทรัพย์

         ทาง OFII จะประเมินทุนทรัพย์ทุกอย่างที่ท่านและคู่สมรสถือครอง ยกเว้นรายการดังต่อไปนี้

  • สวัสดิการครอบครัว (Prestations familiales) :
    • สวัสดิการต้อนรับสมาชิกใหม่ (Prestation d’accueil du jeune enfant หรือ PAJE)
    • เงินสงเคราะห์ครอบครัว (Allocations familiales)
    • เงินช่วยเหลือเมื่อมีบุตรเพิ่ม (Complément familial)
    • เงินช่วยเหลือค่าที่พัก (Allocation logement)
    • เงินช่วยเหลือด้านการศึกษาสำหรับบุตรที่มีความพิการ (Allocation d’éducation de l’enfant handicapé หรือ AEEH)
    • เงินช่วยเหลือครอบครัว (Allocation de soutien familial)
    • เงินช่วยเหลือเมื่อเปิดเทอม (Allocation de rentrée scolaire)
    • เงินช่วยเหลือผู้ปกครองรายวันเมื่อต้องดูแลบุตรที่ป่วยรุนแรง ได้รับอุบัติเหตุ หรือมีความพิการ (Allocation journalière de présence parentale)
  • เงินผู้เกษียณอายุ (Allocation équivalent retraite)
  • เงินช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ไม่ได้ทำงาน (Revenu de solidarité active หรือ RSA)
  • เงินช่วยเหลือผู้รับบำนาญชราภาพที่มีรายได้น้อย (Allocation de solidarité aux personnes âgées หรือ ASPA)
  • เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ว่างงาน (Allocation de solidarité spécifique หรือ ASS)

 

ขั้นตอนการดำเนินการ

  1. การยื่นเรื่อง
  • เตรียมเอกสาร
  • รายการเอกสารที่ต้องยื่นจะขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละครอบครัว คลิกที่นี่ เพื่อดูรายการเอกสารที่สอดคร้องกับลักษณะครอบครัวของท่าน
  • เอกสารต้องได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยนักแปลที่ไก้รับการรับรองโดยศาลอุทธรณ์ประเทศฝรั่งเศส (Expert traducteur assermenté près la Cour d’Appel) หน่วยงานฝรั่งเศสจะปฏิเสธเอกสารที่ได้รับการแปลโดยนักแปลอื่น ๆ

 

หมายเหตุ : นักแปลของ AsiePro ได้รับการรับรองโดยศาลอุทธรณ์ประเทศฝรั่งเศส (Expert traducteur assermenté près la Cour d’Appel) และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส เอกสารที่แปลและประทับตราแล้ว ท่านสามารถใช้ยื่นกับหน่วยงานฝรั่งเศสได้เลย

 

  • กรอกแบบฟอร์มเพื่อยื่นเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว”
  • เมื่อเตรียมเอกสารครบแล้ว คลิกที่นี่ เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์ม “CERFA n°11436*05” เพื่อขอทำเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว” และ คลิกที่นี่ เพื่อศึกษาขั้นตอนในการกรอกแบบฟอร์ม
  • ส่งเอกสาร
  • เมื่อเอกสารทุกอย่างครบแล้ว (CERFA และหลักฐานอื่น ๆ) ให้ท่านส่งทางไปรษณีย์ไปให้ Direction territoriale de l’OFII คลิกที่นี่ เพื่อดูที่อยู่ของ OFFI ในเขตที่ท่านอาศัยอยู่
  1. หลังส่งเอกสาร
  • การตรวจสอบหลังส่งเอกสาร
  • OFII จะตรวจสอบว่าเอกสารของท่านสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่
  • หากเอกสารไม่สมบูรณ์ OFII จะแจ้งให้ท่านส่งเอกสารที่ขาดไป พร้อมแจ้งกำหนดเวลาในการส่ง
  • หากส่งเอกสารช้ากว่ากำหนด จะต้องเริ่มต้นยื่นเรื่องใหม่ทั้งหมด
  • หากเอกสารสมบูรณ์ครบถ้วนดี ท่านจะได้รับหลักฐานที่แสดงว่าส่งเอกสารแล้ว (attestation de dépôt) ซึ่งในหลักฐานนี้จะระบุรายชื่อสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการยื่นเรื่อง
  • ขั้นตอนเมื่อเอกสารได้รับการบันทึกแล้ว
  • เจ้าหน้าที่ OFII หรือ ศาลากลางจังหวัด (ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี) จะมาสำรวจที่พักอาศัยของท่าน
  • Préfecture ในเขตที่ท่านอาศัยอยู่จะพิจารณาคำร้องภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ส่งหลักฐานที่แสดงว่าส่งเอกสารให้ท่านแล้ว

 

เงื่อนไขที่ไม่สามารถยื่นเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว”

         ท่านไม่สามารถยื่นเรื่องได้ หากอยู่ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ท่านมีสัญชาติฝรั่งเศส ถ้าต้องการพาครอบครัวมาอยู่ในฝรั่งเศส ไม่ต้องทำเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว” ให้ขอวีซ่าในฐานะสมาชิกครอบครัว คลิกที่นี่ เพื่อดูข้อมูล
  • ท่านเป็นผู้ลี้ภัยและสมรสแล้วก่อนที่จะยื่นเรื่องความคุ้มครองผู้ลี้ภัย (demande de Protection Internationale)เพื่อขอรับสถานะผู้ลี้ภัย ในกรณีนี้ ให้ท่านยื่นเรื่องในฐานะผู้ลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสที่ต้องการให้ครอบครัวมาอยู่ด้วย คลิกที่นี่ เพื่อดูข้อมูล

 

หมายเหตุ : หากการสมรสเกิดขึ้นหลัง0kdยื่นเรื่องความคุ้มครองผู้ลี้ภัยกับ OFPRA (Office français de protection des réfugiés et apatrides) หรือ หากท่านมีบุตรกับคู่สมรสหลังยื่นเรื่องความคุ้มครองผู้ลี้ภัยแล้ว ท่านต้องทำเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว” ไม่ใช่ “การรวมตัวใหม่ของครอบครัว” (réunification familiale des réfugiés)

 

  • ท่านมีบัตรถิ่นพำนักแบบ “retraité”, “saisonnier”, “passeport talent” หรือ “salarié détaché ICT”
  • ท่านพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 18 เดือน (หรือน้อยกว่า 12 เดือน สำหรับชาวแอลจีเรีย) ท่านจะยื่นเรื่องได้ก็ต่อเมื่ออยู่ครบตามเวลาที่กำหนดไว้ นั่นก็คือ 18 เดือน เป็นอย่างน้อย
  • ท่านอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โดยปราศจากสถานภาพ ถิ่นพำนัก และหลักฐานส่วนบุคคลอย่างถูกต้องครบถ้วน

 

***

 

การศึกษาในประเทศฝรั่งเศส

 

         เมื่อยื่นเรื่อง “การรวมตัวของครอบครัว” และผ่านลุล่วงไปแล้ว ท่านก็จะสามารถทำเรื่องขอวีซ่าระยะยาวให้แก่บุตรได้ (วีซ่าติดตามแม่) ถัดมา เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องการให้บุตรมาเรียนในประเทศฝรั่งเศส โดยจะเน้นเรื่องระบบชั้นการศึกษาเมื่อเทียบกับอายุผู้เรียน และเอกสารสำคัญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

         ในประเทศฝรั่งเศส การศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นแบบให้เปล่า ผู้เรียนจะไม่เสียค่าเทอม อีกทั้งโรงเรียนยังจัดหนังสือให้ยืมใช้ตลอดปีการศึกษา ผู้เรียนจะสมัครเข้าศึกษาในศาลาว่าการ (mairie) ของเขตที่ตัวเองอาศัยอยู่ เมื่อสำเร็จชั้นอนุบาลแล้ว โรงเรียนก็จะส่งต่อให้เด็กไปเรียนในโรงเรียนประถมในเขตเดียวกัน เป็นแบบนี้เป็นทอด ๆ จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั่นเอง

         หากต้องการให้บุตรศึกษาในโรงเรียนนอกเขตของตัวเอง ก็สามารถยื่นเรื่องขอได้ในกรณีพิเศษ การตอบรับการขอจะขึ้นอยู่กับความสามารถของโรงเรียนในการรับนักเรียน ไม่มีการสอบคัดเลือก ด้วยยึดหลักที่ว่า เด็กทุกคนไม่ว่าจะสัญชาติใดย่อมมีโอกาศในการศึกษาเท่าเทียมกัน โรงเรียนเอกชนจะไม่มีการพิจารณาเกี่ยวกับภูมิลำเนาและไม่มีการสอบคัดเลือก ส่วนการรับเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษานั้น จะพิจารณาจากผลการเรียนเป็นสำคัญ

 

  1. การศึกษาก่อนวัยเรียน (อายุ 3-5 ปี)

         การศึกษาระดับนี้เป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยจะเน้นให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง เริ่มเรียนรู้ และแสดงความสามารถของตัวเอง ที่สำคัญ โรงเรียนจะเน้นให้เด็กพัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการพูด ส่วนการประเมินนั้น จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารเป็นหลัก หากยังไม่มีทักษะด้านนี้ ครูจะเสนอให้เด็กซ้ำชั้น แต่ถ้าเด็กมีศักยภาพสูง ก็อาจมีสิทธิข้ามชั้นได้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองจะมีสิทธิแสดงความเห็นในการประเมินดังกล่าว บางโรงเรียนอาจรับเด็กที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 2 ปีครึ่ง โรงเรียนอนุบาลจะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้

 

1

ชั้นเด็กเล็ก / Petite section

2

ชั้นเด็กกลาง / Moyenne section

3

ชั้นเด็กโต / Grande section

 

  1. ประถมศึกษา (อายุ 6-10 ปี)

         ระดับนี้ก็เป็นการศึกษาภาคบังคับเช่นกันและจะสิ้นสุดเมื่อเด็กอายุ 16 ปี โดยคำนึงอายุของเด็ก การประเมินจะพิจารณาอย่างสม่ำเสมอตลอดปีการศึกษา ผ่านรูปแบบการบ้าน แบบฝึกหัด และการตอบคำถามในชั้นเรียน ครูที่สอนหลัก ๆ จะเป็นครูประจำชั้น โรงเรียนประถมจะแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ดังนี้

 

1

เตรียมประถมศึกษา / Cours Préparatoire – CP

2

ประถมศึกษาต้นปีที่ 1 / Cours Elémentaire 1– CE 1

3

ประถมศึกษาต้นปีที่ 2 / Cours Elémentaire 2– CE 2

4

ประถมศึกษากลางปีที่ 1 / Cours Moyen 1– CM 1

5

ประถมศึกษากลางปีที่ 2 / Cours Moyen 2– CM 2

 

  1. การศึกษาระดับมัธยม (อายุ 11-18 ปี)

         การศึกษาระดับนี้แบ่งออกเป็นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ดังนี้

  • มัธยมศึกษาตอนต้น (อายุ 11-14 ปี)

         เด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะมีความรับผิดชอบมากขึ้น ชั้นนี้จะมีครูเฉพาะแต่ละวิชา หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับนี้แล้ว ก็จะแยกออกเป็นสายสามัญและสายวิชาชีพเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 (Troisième) ดังนั้น ผู้เรียนจึงต้องเข้ารับการฝึกงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเรียนรู้วิชาชีพต่าง ๆ การประเมินจะพิจารณาจากความมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้น เมื่อจบชั้นปีที่ 3 แล้ว จะต้องสอบรับประกาศนียบัตรสำหรับมัธยมศึกษาตอนต้น (Brevet) ใบผลการสอบจะแสดงคะแนนแต่ละวิชา แต่จะไม่จัดลำดับที่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ดังนี้

 

1

ชั้นปีที่ 6 / Sixième

2

ชั้นปีที่ 5 / Cinquième

3

ชั้นปีที่ 4 / Quatrième

4

ชั้นปีที่ 3 / Troisième

 

  • มัธยมศึกษาตอนปลาย (อายุ 15-17 ปี)

         การศึกษาระดับนี้จะแยกออกเป็น 2 สาย ได้แก่ สายสามัญและเทคโนโลยี และสายวิชาชีพ โดยทั้ง 2 สายจะแบ่งเป็น 3 ชั้น ดังนี้

 

1

ชั้นปีที่ 2 / Seconde

2

ชั้นปีที่ 1 / Première

3

ชั้นปลาย / Terminale

 

         ในชั้นปีที่ 1 (Première) เด็กที่เรียนสายสามัญและเทคโนโลยีจะเข้าสู่สายวิชาเฉพาะ เช่น สายสามัญวิทยาศาสตร์ สายสามัญเศรษฐศาสตร์และสังคม สายสามัญภาษาและวรรณคดี สายเทคโนโลยีบริหารจัดการ สายเทคโนโลยีออกแบบศิลปะ

         แต่ในสายวิชาชีพ เมื่อจบชั้นปีที่ 1 ( Première) นักเรียนสามารถสอบรับประกาศนียบัตรวิชาชีพ Certificat d’Aptitude Professionnelle – CAP  หรือ Brevet d’Études Professionnel – BEP และเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เลย

         เมื่อสำเร็จชั้นปลาย (Terminale) นักเรียนต้องเข้าสอบรับใบประกาศนียบัตร Baccalauréat สำหรับสายสามัญและเทคโนโลยี และสายวิชาชีพ การสอบทั่วประเทศจะใช้ข้อสอบกลาง ข้อสอบนี้เป็นการสอบเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วย

***

 

การเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส

 

         หากท่านวางแผนจะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กรุณาตรวจสอบเงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ ให้แน่ชัดก่อนเดินทาง ข้อมูลต่อไปนี้มาจากเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย ซึ่งได้การรับแก้ไขล่าสุดเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022

 

  1. เงื่อนไขการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสสำหรับผู้เดินทางจากประเทศไทย
  • ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศสีส้ม (Orange countries) ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง แต่ควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่มีการระบาดของสายพันธุ์ที่น่ากังวล
  • ผู้เดินทางจากประเทศสีส้มที่ได้รับวัคซีนซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การยาสหภาพยุโรป (European Medicines Agency : EMA) ครบตามกำหนด พร้อมเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเข้าประเทศฝรั่งเศส
  • ผู้เดินทางจากประเทศสีส้มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนซึ่งได้รับการรับรองจาก EMA ครบตามกำหนด ต้องแสดงเหตุจำเป็นในการเดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศส ตามรายการเหตุผลจำเป็น (compelling reasons) เหตุผลที่อาจจะเกี่ยวข้องกับท่าน เช่น
  • เป็นพลเมืองของประเทศที่สามที่มีวีซ่าประเภทพำนักระยะยาวเพื่อจุดประสงค์ในการรวมตัวของครอบครัว (regroupement familial) หรือเพื่อจุดประสงค์ในการรวมตัวกันใหม่ของครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ได้รับความคุ้มครองลำดับรองและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ (réunification familiale des réfugiés, bénéficiaires de la protection subsidiaire et apatrides)
  • เป็นนักศึกษาที่สมัครเรียนภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาต่างประเทศ (FLE) ก่อนลงทะเบียนเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือที่ได้รับเลือกให้สอบสัมภาษณ์เข้าสถาบันอุดมศึกษาฝรั่งเศส หรือที่ได้ลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษา 2021-2022 ; นักวิจัยหรือผู้สอน (รวมถึงผู้ช่วยด้านภาษา) ที่ย้ายไปพำนักในประเทศฝรั่งเศสตามคำเชิญของห้องปฏิบัติการวิจัยเพื่อกิจกรรมการวิจัยซึ่งจำเป็นต้องมีการเข้าร่วมทางกายภาพเท่านั้น รวมถึงคู่สมรส (สถานภาพ marié, pacsé หรือ concubin โดยแสดงหลักฐานการอยู่ร่วมกัน) และบุตร
  • ชาวฝรั่งเศส รวมถึงคู่สมรส (สถานภาพ marié, pacsé หรือ concubin) และบุตร รวมทั้งชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักหลักในประเทศฝรั่งเศสและยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่ต้องแสดงเหตุจำเป็นในการเดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากมีสถานะตามที่ระบุในเอกสารรับรองการเดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศส (Attestation d’entrée sur le territoire métropolitain หรือ Travel certificate to Metropolitan France)
  • ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้เดินทางจากประเทศในกลุ่มประเทศสีส้มซึ่งได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้ว ไม่ต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนออกเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส แต่ผู้เดินทางควรติดต่อสายการบินเพื่อตรวจสอบว่าต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบด้วยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test ก่อนขึ้นเครื่องบินหรือไม่ รวมถึงระหว่างต่อเครื่องบินกรณีที่ไม่ใช่เที่ยวบินตรง

 

ตารางสรุปมาตรการป้องกันโรคก่อนเข้าประเทศฝรั่งเศสที่ผู้เดินทางจากประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม

 

คลิกที่นี่ เพื่อดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเดินทาง

 

  1. วัคซีนที่ประเทศฝรั่งเศสยอมรับ (วัคซีนที่ EMA รับรอง)
  • Comirnaty (Pfizer & BioNTech),
  • Spikevax (Moderna)
  • COVID-19 Vaccine Janssen
  • Vaxzevria (AstraZeneca) รวมทั้งวัคซีนเทียบเท่า « EMA-like »* อาทิ Covid-19 vaccine Astra-Zeneca ที่ผลิตในประเทศไทย
  • รายการวัคซีนที่ EMA รับรองอาจมีการเปลี่ยนแปลง คลิกที่นี่ ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานความปลอดภัยด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งชาติฝรั่งเศส (Agence nationale de sécurité du médicament et des produits de santé : ANSM)

 

 

  1. ประวัติการรับวัคซีนที่ถือว่าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์
  • 28 วันหลังได้รับวัคซีน Janssen ของ Johnson & Johnson (ฉีดเพียง 1 เข็ม)
  • 7 วันหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สองสำหรับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจาก EMA
  • 7 วันหลังได้รับวัคซีนชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองจาก EMA เพิ่มเติม 1 เข็ม กรณีนี้เป็นสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac/Sinopharm ครบ 2 เข็มแล้ว
  • 7 วันหลังได้รับวัคซีน 1 เข็ม ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก EMA กรณีนี้สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน
  • ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสต้องได้รับวัคซีนชนิด mRNA เพิ่มเติม 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างอย่างช้าที่สุด 9 เดือนหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้าย หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าว ประวัติการรับวัคซีนของตนจะไม่ได้รับการรับรองว่าครบตามเกณฑ์

 

  1. การนัดหมายยื่นคำร้องขอวีซ่ากับศูนย์ยื่นวีซ่า TLScontact
  • ผู้เดินทางควรศึกษาเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสทั้งในส่วนของเหตุจำเป็นในการเดินทางและมาตรการป้องกันโรคที่ทางการฝรั่งเศสกำหนดให้เรียบร้อย ก่อนยื่นคำร้องขอวีซ่ากับ TLScontact
  • ประวัติการรับวัคซีนไม่ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาออกวีซ่า จึงไม่ต้องใช้เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนตอนยื่นคำร้องขอวีซ่า
  • ผู้ที่ได้รับวีซ่าแล้วจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศฝรั่งเศสได้ทันที และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสที่มีผลบังคับใช้ในวันเดินทาง
  • ปัจจุบัน TLScontact ได้เปิดให้ผู้เดินทางทุกประเภทสามารถทำการนัดหมายยื่นคำร้องขอวีซ่ากับได้

 

  1. สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส
  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน TousAntiCovid ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หากมีอาการหรือติดเชื้อ ควรระมัดระวังและมีความรับผิดชอบ
  • ดูข้อมูลเกี่ยวกับบัตรรับรองการได้รับวัคซีน (vaccine pass) ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเข้าสถานที่ต่าง ๆ บนเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส คลิกที่นี่
  • ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้บนเว็บไซต์ของกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส คลิกที่นี่
  • หากมีข้อสงสัย ท่านสามารถติดต่อแผนกวีซ่า สถานเอกอัครราชทูตฯ (กรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น) คลิกที่นี่

แหล่งอ้างอิง :

OFII เว็บไซต์ https://www.ofii.fr/procedure/regroupement-familial/

France-Visa เว็บไซต์ https://france-visas.gouv.fr/fr_FR/web/france-visas/famille-de-francais

Service-Public.fr เว็บไซต์ https://www.service-public.fr/particuliers/vosdroits/N11165

สำนักงาน ก.พ. เว็บไซต์ https://www.ocsc.go.th/blog/2017/08/ระบบการศึกษาในฝรั่งเศส-1

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เว็บไซต์ https://th.ambafrance.org/Travel-to-France-TH

Laisser un commentaire

Votre adresse e-mail ne sera pas publiée. Les champs obligatoires sont indiqués avec *